เนื้อหา : บทความสาระน่ารู้
หมวดหมู่ : ความรู้เกี่ยวกับ IT
หัวข้อเรื่อง : เทคโนโลยีใหม่ช่วยคนตาบอดให้ ‘มองเห็น’ อักษรเบลล์

จันทร์ ที่ 26 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2555

คะแนน vote : 280  



          นับเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการส่งภาพของอักษรเบลล์เข้าไปที่เรตินาของคนตาบอดได้โดยตรง ทำให้คนตาบอดสามารถอ่านคำที่ประกอบไปด้วยอักษร ๔ ตัวได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยใช้เทคโนโลยีอุปกรณ์เสมือนประสาททางด้านสายตา (Ocular Neuroprosthetic)

         อุปกรณ์ชิ้นนี้มีชื่อว่า Argus II เป็นอุปกรณ์ที่นักวิจัยใช้ฝังลงไปให้กับคนตาบอด ๕๐ รายในการทดลองนี้ ทำให้แต่ละคนสามารถมองเห็นสี การเคลื่อนไหว และวัตถุต่างๆได้ หลักการของอุปกรณ์นี้คือ ใช้กล้องเล็กๆติดไว้ที่แว่นตา จากนั้นข้อมูลจากกล้องจะถูกส่งไปที่หน่วยประมวลผลแบบพกพาเพื่อเปลี่ยนสัญญาณให้อยู่ในรูปการกระตุ้นทางไฟฟ้า และส่งไปยังไมโครชิพที่มีขั้วอิเล็กโทรดที่นักวิจัยได้ฝังไว้โดยตรงที่เรตินาของคนตาบอด

         การศึกษาครั้งนี้เกิดขึ้นจากนักวิจัยที่ Second Sight บริษัทผู้พัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าว และงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ Frontiers in Neuroprosthetics แล้ว "ในการทดสอบทางคลิกนิคกับคนตาบอดจริงๆนั้น เราใช้กล้องจับสัญญาณแล้วส่งไปกระตุ้นเรตินาของคนตาบอดโดยตรง ทำให้แทนที่คนตาบอดจะรับรู้จากการใช้ปลายนิ้วสัมผัสอักษรเบลล์ ตอนนี้พวกเขาก็สามารถเห็นแพทเทิร์นของอักษรเบลล์ที่เราส่งไปที่เรตินาได้โดยตรงแล้ว จากนั้นก็อ่านอักษรแต่ละตัวในเวลาไม่ถึงหนึ่งวินาทีเลย ให้ผลออกมาถูกต้องมากถึง ๘๙ เปอร์เซ็นต์" โธมัส โลริตเซ่น หัวหน้าทีมวิจัยอธิบาย

          เทคนิคนี้คล้ายๆกับการฝังอุปกรณ์เข้าไปในคลอเคลียของหูเพื่อช่วยในการได้ยิน โดยในเทคนิคที่นักวิจัยใช้นั้น นักวิจัยได้ฝังขั้วอิเล็กโทรด (ขั้วไฟฟ้า) ๖๐ ขั้วเข้าไปที่เรตินาเป็นรูปตาราง เพื่อจะได้กระตุ้นเซลล์ประสาทของตาได้โดยตรง

         ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยที่ Second Sight ได้ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อกระตุ้นอิเล็กโทรด ๖ ตัวในตารางกริดที่ฝังอยู่นี้เพื่อให้คนตาบอดอ่านอักษรเบลล์ได้ จากนั้นก็เริ่มทำการทดสอบโดยให้อ่านอักษรเบลล์ทีละตัวซึ่งมาจากคำๆหนึ่งที่มีความยาวตั้งแต่ ๒ ตัวอักษรไปจนถึง ๔ ตัวอักษร ผลออกมาพบว่า คนตาบอดแต่ละคนใช้เวลาอ่านตัวอักษรแต่ละตัวเฉลี่ยครึ่งวินาที และมีความถูกต้องมากถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์

         "เราไม่ได้มีอินพุตอื่นเลยนอกจากการกระตุ้นขั้วอิเล็กโทรด แต่คนตาบอดก็สามารถรับรู้อักษรเบลล์ได้อย่างรวดเร็ว นี่เป็นการพิสูจน์ว่า คนตาบอดยังมีการรับรู้เชิงลึกได้อย่างละเอียด เพราะสามารถแยกแยะสัญญาณที่แตกต่างกัน (จากขั้วอิเล็กโทรดที่ต่างกัน) ได้อย่างง่ายดาย" โลริตเซ่นอธิบายต่อ

          ขณะที่ ซิลแวสโตร มิเซร่า แห่งสถาบันอุปกรณ์เสมือนประสาทของ EPFL ผู้ตรวจสอบงานวิจัยนี้ก็ให้ความเห็นว่า "การศึกษาครั้งนี้เป็นการพิสูจน์แนวคิดที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทดสอบทางคลินิคของการวิจัยที่มีอุปกรณ์เสมือนประสาทมาเกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้สมบูรณ์ และนับเป็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นนวัตกรรมจริงๆ"

          นอกจากนี้ สำหรับผู้ป่วยมีอาการป่วยจากพันธุกรรมที่เรตินามีความผิดปกติ (Retinitis Pigmentosa หรือ RP) นั้น อุปกรณ์ Argus II สามารถฟื้นฟูความสามารถของการอ่านได้เป็นอย่างดีด้วยการใช้กล้องและให้อ่านคำสั้นๆดังที่อธิบายมา

          ปัจจุบัน ทีมวิจัยกำลังศึกษาว่า จะประยุกต์ให้ Argus II ช่วยให้คนตาบอดสามารถอ่านข้อความได้เร็วขึ้นหรือรับรู้รูปแบบอื่นๆได้อย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี Image Processing ในซอฟท์แวร์ ก่อนที่จะส่งสัญญาณไปที่ขั้วอิเล็กโทรดที่ฝังอยู่ที่เรตินาของคนตาบอดนั่นเอง ชมวิดีโอสาธิต: http://www.youtube.com/watch?v=bBzMWVOTFi8&feature=related

          อ้างอิง: Thomas Z. Lauritzen, Jordan Harris, Saddek Mohand-Said, Jose A. Sahel, Jessy D. Dorn, Kelly McClure, Robert J. Greenberg. Reading Visual Braille with a Retinal Prosthesis. Frontiers in Neuroscience, ๒๐๑๒; ๖ DOI: ๑๐.๓๓๘๙/fnins.๒๐๑๒.๐๐๑๖๘

          งานวิจัย: Frontiers (๒๐๑๒, November ๒๒). Blind patient reads words stimulated directly onto retina: Neuroprosthetic device uses implant to project visual braille. ScienceDaily. Retrieved November ๒๔, ๒๐๑๒, from http://www.sciencedaily.com/releases/2012/11/121122095433.htm (วิชาการดอทคอม/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๒๔ พ.ย.๕๕)



เข้าชม : 2723


ความรู้เกี่ยวกับ IT 5 อันดับล่าสุด

      เทคโนโลยีใหม่ช่วยคนตาบอดให้ ‘มองเห็น’ อักษรเบลล์ 26 / พ.ย. / 2555
      ลีลาไม่ธรรมดา!! เด็กพิการเท้าโชว์แตะลอดขา\'เมสซี\' 30 / ต.ค. / 2555
      วอนช่วยเหลือ ‘น้องวันใหม่’ พิการไม่มีรูทวาร-กำพร้าพ่อแม่ที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต 24 / ต.ค. / 2555
      ทำไมจะต้องเปิดประมูลคลื่น 3G บนความถี่ 2.1 GHz 17 / ต.ค. / 2555
      เตือนโรคข้อเสื่อมในผู้สูงอายุอันตรายถึงขั้นพิการ 15 / ต.ค. / 2555