บทความสุขภาพ เล่นคอมนาน-กดโทรศัพท์บ่อย เสี่ยงโรคพังผืดทับเส้นประสาท
พุธ ที่ 16 เดือน มกราคม พ.ศ.2556
|
|
เล่นคอมนาน-กดโทรศัพท์บ่อย เสี่ยงโรคพังผืดทับเส้นประสาท
เตือน! เล่นคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน กดโทรศัพท์มือถือบ่อย ๆ กลุ่มเสี่ยงโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ รักษาได้ด้วยการปรับพฤติกรรม หากเป็นหนักต้องถึงขั้นผ่าตัด
ตกเป็นประเด็นฮือฮามาพักใหญ่ ๆ แล้วสำหรับโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ หรือ Carpal Tunnel Syndrome (CTS) ที่พักนี้เริ่มจะระบาดไปทั่ว แต่เอ๊ะ! อย่าเพิ่งเข้าใจผิดค่ะ โรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือนี้ไม่ใช่โรคติดต่ออะไร แต่สาเหตุที่ทำให้มันระบาดไปทั่วนั้นก็เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ และการกดโทรศัพท์มือถือเล่นเป็นเวลานานของคนในยุคนี้ต่างหาก ที่ทำให้คนในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคนี้มากขึ้น
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากที่ใช้เวลาส่วนมากไปกับการทำงาน การแชท และการเล่นเกม ในคอมพิวเตอร์และในโทรศัพท์ที่นับวันก็ยิ่งออกโปรแกรมใหม่ ๆ มาให้เราลองเล่นกันไม่หยุด จนบางครั้งเราอาจจะเผลอลืมย้อนมองถึงสุขภาพและร่างกายของเราว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวของเราบ้าง โดยมารู้สึกตัวอีกทีก็ตอนที่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น อย่างเช่น ปวดข้อมือ ปวดแขน นิ้วชา หรือแม้แต่ปวดแปลบ ๆ ที่นิ้วมือ
มีผู้คนไม่น้อยที่ต้องตกใจเมื่อพบว่าตัวเองได้กลายเป็น 1 ในคนที่เป็นโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ และต้องทนกับความเจ็บปวดที่ไม่พึงประสงค์จากโรคนี้ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรกัน ว่าอาการผิดปกติบางอย่างที่เราอาจจะเริ่มมีนั้น เป็นข้อบ่งชี้ว่าเราเป็นโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือหรือไม่ หรือเป็นแค่การปวดเมื่อยจากการใช้งานอวัยวะส่วนนั้นนานเกินไปเพียงเท่านั้น และหากเราได้กลายมาเป็น 1 ในคนที่เป็นโรคนี้เสียแล้วจะมีวิธีรักษาได้อย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับโรคนี้กันค่ะ
สำหรับโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ เป็นโรคในกลุ่มการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ หรือ Carpal Tunnel Syndrome (CTS) ที่เกิดขึ้นเนื่องจากเกิดพังผืดที่หนาตัวขึ้นบริเวณข้อมือด้านฝ่ามือ และไปกดทับถูกเส้นประสาทมีเดียน (median nerve) ซึ่งอยู่ผ่านช่องข้อมือแขนงไปยังนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วหัวแม่มือ โดยเมื่อเส้นประสาทถูกกดทับ จะทำให้มีอาการปวดและชาตามนิ้ว และถ้าเส้นประสาทถูกกดทับนานๆ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณ ฝ่ามือด้านนิ้วหัวแม่มือจะลีบเล็กลง
จากการวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้สูงที่สุด ก็คือกลุ่มผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน มากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งยังพบมากในผู้ที่ใช้มือทำงานมาก ๆ เช่น กลุ่มแม่บ้านที่ทำกับข้าว ซักผ้า และถักนิตติ้ง อีกด้วย โรคนี้จะพบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชาย โดยเฉพาะในช่วงวัยประมาณ 35-40 ปี นอกจากนี้ผู้ที่มีข้อมือค่อนข้างกลมก็มีโอกาสเกิดโรคสูง บางครั้งอาจจะพบได้ในสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ แต่ก็สามารถหายได้เองหลังจากที่คลอดแล้ว
สาเหตุของโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ เกิดจาก
1. การใช้งานข้อมือในท่าเดิม ๆ อย่างเช่นคนที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้เมาส์ โดยใช้ข้อมือเป็นจุดหมุน การกดแป้นคีย์บอร์ด การเย็บผ้า การถักนิตติ้ง
2. การใช้ข้อมือที่มีการงอมือเป็นเวลานาน เช่น การกวาดบ้านนาน ๆ การรีดผ้า การหิ้วถุงที่มีการงอข้อมือ
3. การทำงานที่มีการใช้ข้อมือกระดกขึ้นและการสั่นกระแทก เช่น ช่างฝีมือประเภทต่าง ๆ พนักงานโรงงาน งานที่เกี่ยวกับการก่อสร้างหรืองานคอนกรีต
4. การที่พังผืดหนาตัวมากขึ้น จากสภาพร่างกายที่มีอายุมากขึ้น
สำหรับอาการของ โรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ นั้น นพ.ทวีพงษ์ จันทรเสโน ศัลยแพทย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลเวชธานี ได้ชี้แจงดังนี้
1. มีอาการปวดมือ ปวดร้าวขึ้นไปที่แขน
2. มักจะมีอาการชาที่นิ้วมือ โดยเฉพาะที่นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลางและบางส่วนของนิ้วนางตามแนวของเส้นประสาท
3. อาการปวดจะมีมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานในลักษณะการเกร็งอยู่นาน ๆ ในท่าเดิม เช่น การจับมีด กรรไกร
4. การทำงานช่างที่ใช้ค้อนหรือใช้เครื่องมือที่มีแรงสั่นสะเทือน
5. มักจะมีอาการปวดในเวลากลางคืนหรือเวลาตื่นนอนตอนเช้า และจะหายไปชั่วครู่หลังจากสะบัดมือ
6. บางรายที่ถูกกดทับอยู่นาน ๆ จะเริ่มมีอาการอ่อนแรงของมือ เช่น จะรู้สึกว่าไม่ค่อยมีแรงเวลากำมือ โดยเฉพาะการใช้มือหยิบของเล็ก ๆ จะทำได้ลำบาก
7. มีกล้ามเนื้อลีบที่ฝ่ามือ
ดังจะเห็นได้ว่าโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือนี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างความเจ็บปวดที่สร้างความทรมานและความรำคาญให้แก่ผู้ที่เป็นเท่านั้น แต่ยังส่งผลร้ายต่อประสิทธิภาพการทำงานของมืออย่างเห็นได้ชัด ในต่างประเทศได้มีการพบว่า ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา มีคนทำงาน 3 คนจากทุก ๆ 10,000 คน ที่ต้องเสียเวลาในการทำงานของพวกเขาเพราะโรคนี้ พวกเขาต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับการรักษาโรครวมกับค่าใช้จ่ายที่สูญเสียจากการทำงานสูงถึง 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน
และสำหรับผู้ที่มีอาการอยู่ในกลุ่มอาการของโรคดังที่กล่าวไปแล้วนั้น เบื้องต้นแพทย์ได้แนะนำให้ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยก่อนว่าใช่โรคพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือหรือไม่ เนื่องจากอาจเป็นโรคอื่น หรือการกดทับเส้นประสาทที่ตำแหน่งอื่นก็ได้ โดยแพทย์จะดูจากอาการปวดแปลบๆ เวลาเคาะที่เส้นประสาท และอาจพบว่ามีกล้ามเนื้อลีบ ในบางรายอาจต้องใช้การตรวจระบบไฟฟ้าของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้
สำหรับการรักษาโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือนี้ ก็มีวิธีการรักษาหลายวิธี ทั้งการทานยา ปรับพฤติกรรมในการใช้มือ การทำกายภาพบำบัด หรือแม้แต่การผ่าตัด โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามระดับความรุนแรงของโรค โดยแบ่งเป็น การรักษาเบื้องต้น และการผ่าตัด
การรักษาเบื้องต้น
1. หากพังผืดยังไม่หนามากนัก แพทย์จะทำการลดความดันข้อมือโดยทำการดามข้อมือของผู้ป่วย เพื่อให้ข้อมืออยู่นิ่ง ๆ ทำให้มีความดันในโพรงข้อมือต่ำที่สุด
2. ปรับการใช้ข้อมือในการทำงานและชีวิตประจำวัน โดยการปรับอุปกรณ์การทำงานให้ถูกตามหลักสุขลักษณะ และหลีกเลี่ยงการใช้งานมือในลักษณะเกร็งนาน ๆ ในงานที่ต้องใช้ข้อมือกระดกขึ้น งอข้อมือนาน ๆ รวมถึงงานที่มีการสั่นกระแทกจนทำให้ความดันในโพรงข้อมือสูงขึ้นด้วย
3. การฉีดยาซึ่งทำจากยาชาผสมกับยาสเตียรอยด์เข้าไปในโพรงข้อมือรอบ ๆ เส้นประสาท จะช่วยลดการอักเสบและบางรายอาจหายได้ วิธีนี้พบว่าได้ผลดีเฉลี่ยประมาณ 40 - 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค และปัจจัยอื่นๆ
แต่หากการรักษาเบื้องต้นไม่ประสบความสำเร็จ และผู้ป่วยมีอาการชามากขึ้น รวมถึงในรายที่มีอาการมากหรือกล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรงหรือลีบลง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา อาจจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ซึ่งจะรักษาให้โรคนี้หายขาดได้ โดยเข้าไปตัดพังผืดที่พาดผ่านบริเวณด้านหน้าข้อมือออก ซึ่งจะทำให้ช่องว่างในโพรงข้อมือเพิ่มขึ้น ทำให้ความดันในโพรงข้อมือลดลง และเลือดสามารถมาเลี้ยงเส้นประสาทได้ดีขึ้น
วิธีการผ่าตัดพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ แบ่งเป็น 3 วิธี คือ
1. การผ่าตัดแบบเปิด (Open carpal tunnel release) วิธีนี้จะเปิดให้เห็นเส้นประสาทได้โดยตรง โอกาสบาดเจ็บต่อเส้นประสาทน้อยกว่า และสามารถทำการผ่าตัดอื่นร่วมด้วยได้ เช่น ตัดเยื่อหุ้มเอ็นออกได้ด้วย โดยแพทย์จะทำการผ่าตั้งแต่ข้อมือถึงฝ่ามือ ซึ่งจะทำให้เกิดแผลจะยาวประมาณ 5 – 6 ซม. และหลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดแผล มือบวม ต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ แผลจึงจะหายพอที่จะทำงานเบา ๆ ได้ และใช้เวลาประมาณ 3 เดือน แผลจึงจะหายกลับมาเป็นปกติ
2. การผ่าตัดแบบเปิดแผลจำกัด (Limited open carpal tunnel release) วิธีนี้จะเปิดแผลประมาณ 1.5 เซนติเมตร และต้องใช้อุปกรณ์พิเศษในการตัดนำพังผืดออกมา วิธีนี้จะมีแผลที่เล็กกว่า และผู้ป่วยกลับไปทำงานได้เร็วขึ้น
3. การผ่าตัดผ่านกล้อง (Arthroscopic carpal tunnel release) วิธีนี้จะใช้กล้องส่องเข้าไปใต้พังผืดข้อมือ และตัดพังผืดออกจากด้านใน วิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยกลับไปทำงานตามปกติได้เร็วขึ้น โดยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้หลังจากผ่าตัดประมาณ 3 วัน และสามารถไปทำงานได้ภายใน 7 วัน เนื่องจากแผลมีขนาดเล็กมากและหายเร็วกว่า และเมื่อแผลหายสนิทดีแล้วรอยแผลก็จะหายไปในรอยพับ ผู้ป่วยจึงไม่เกิดการปวดที่ฝ่ามือหลังผ่าตัด
ทั้งนี้การรักษาทุก ๆ แบบนั้นสามารถทำการรักษาได้โดย นอกจากแพทย์จะพิจารณาการรักษาจากระดับความรุนแรงของโรคแล้ว ยังต้องพิจารณาเรื่องความสามารถของศัลยแพทย์ผู้ทำการรักษาด้วย
และสำหรับใครที่เริ่มมีอาการปวด ชา บริเวณข้อมือและนิ้วมือ เนื่องจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ทั้งผู้ที่ป่วยเป็นโรคพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ รวมถึงคนที่เพียงแค่ปวดเมื่อยจากการใช้ข้อมือนานเกินไป นี่ก็คือเคล็ดลับ ง่าย ๆ เพื่อลดอาการปวดและสร้างเสริมข้อมือ ที่เรานำมาฝากกันค่ะ
1. วางคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากตัวพอดีกับช่วงแขน จับเมาส์และคีย์บอร์ด สบายๆ ไม่เหยียดหรืองอข้อมือ
2. จัดท่าทางขณะพิมพ์คีย์บอร์ดให้ทั้งท่อนแขน วางอยู่ในแนวขนานกับพื้น
3. ใช้แผ่นรองข้อมือนุ่ม ๆ มารองที่ข้อมือ ขณะใช้เมาส์
4. ขณะใช้คอมพิวเตอร์ ควรผ่อนคลายอิริยาบถทุกๆ 15-20 นาที
5. บริหารข้อมือ โดยการทำฝ่ามือให้ตั้งฉากกับแขนพร้อมออกแรงดึงฝ่ามือเข้ามาหาตัว โดยทำทั้งหงายมือและคว่ำมือ หรืออาจใช้การดันฝ่ามือกับพื้นแทนได้
เป็นอย่างไรคะ เพียงแค่เอาใจใส่กับตัวเองสักนิด ปรับท่าทางขณะที่ทำงานให้มีลักษณะที่ถูกต้อง บริหารข้อมือเป็นพัก ๆ ผ่อนคลายตัวเองระหว่างทำงาน หรืออาจจะลดชั่วโมงในการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ลงบ้าง ก็ช่วยทำให้เราถนอมข้อมือของเราให้ห่างไกลจากโรคพังผืดทับเส้นประสาทอักเสบได้แล้ว
เข้าชม : 10187
|
|
บทความสุขภาพ 5 อันดับล่าสุด
เล่นคอมนาน-กดโทรศัพท์บ่อย เสี่ยงโรคพังผืดทับเส้นประสาท 16 / ม.ค. / 2556
แพทย์แนะตรวจหาไวรัสตับอักเสบซี ดีต่อตัวเอง 5 / ก.ค. / 2554
ทายนิสัยอาการโกรธจากกรุ๊ปเลือด 14 / มิ.ย. / 2554
10 เหตุผลที่ควรวิ่งด้วยเท้าเปล่า 13 / มิ.ย. / 2554
นมถั่วเหลือง ช่วยลดความเสี่ยง โรคหัวใจ 13 / มิ.ย. / 2554
|